เกี่ยวกับเรา

ประวัติ และผลงาน

ประวัติมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

                                มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน  ที่ทำงานกับชาวชุมชนแออัด   มีจุดเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็ก ๆ  3-4 คน เรียกว่ากลุ่มชุมชนสัมพันธ์ ทำงานพัฒนาในสลัม มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2525  จนกระทั้งเติบโตทั้งการทำงาน และกำลังคน  จึงจดทะเบียนเป็นมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เมื่อ มิถุนายน ปี 2531

สำนักงานมูลนิธิฯ  ตั้งอยู่ที่ 463 / 1 ซอยเทพลีลา 9  ถนนรามคำแหง 39  เขตวังทองหลาง กทม. 10310  ปัจจุบันมูลนิธิฯ  มีคณะกรรมการบริหารทั้งหมด  9 ท่าน  มีท่านอาจารย์ปฐมฤกษ์  เกตุทัต  เป็นประธานมูลนิธิฯ  มีผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด  6  ท่าน  เป็นเจ้าหน้าที่ 7 ท่าน

 มูลนิธิฯ  ทำงานกับกลุ่มคนจนในเมือง ทั้งคนในชุมชนแออัด และคนไร้บ้านที่อยู่อาศัยตามที่สาธารณะ โดยมีประเด็นงานหลักอยู่ที่การร่วมกับชาวชุมชนแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย   และการพัฒนาคุณภาพชีวิต    พื้นที่ทำงานของมูลนิธิฯ   เริ่มจากพื้นที่ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร   และขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ ๆ  ตามภูมิภาค  เช่น โคราช  เชียงใหม่  สงขลา  อุบลฯ  และเปิดงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อม คือโครงการแลใต้  ที่ จ.สงขลา  เพื่อพิทักษ์ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา   ไม่ว่าจะเป็นงานชุมชนแออัด  หรืองานสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา   แนวคิดสำคัญยังคงเน้นที่การสนับสนุนให้เกิดองค์กรชาวบ้านที่เข้มแข็ง  เพื่อให้มีศักยภาพในการแก้ปัญหาของตัวเองได้     นอกเหนือจากการทำงานจัดตั้งองค์กรชาวบ้านในแต่ละพื้นที่แล้ว  ยังสนับสนุนการเชื่อมประสานระหว่างองค์กรชาวบ้าน  ระหว่างภูมิภาค  ให้เป็นเครือข่ายใหญ่ เพื่อร่วมกันนำเสนอการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย  และนอกจากนี้  มูลนิธิฯ  ยังประสานงานกับองค์กรทางสังคมอื่นๆ  เพื่อให้องค์กรชุมชนเข้าร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม  และประชาธิปไตย

ในปัจจุบัน  พื้นที่ต่าง ๆ  ที่มูลนิธิฯ  ไปขยายงานไว้ มีความเข้มแข็ง  และเติบโตขึ้นจึงก่อรูปเป็นองค์กรพัฒนาในท้องถิ่น   แยกเป็นอิสระจากมูลนิธิ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน  แต่เชื่อมประสานกันในการทำงานกับคนจน 

  ผลงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

1. งานชุมชน  และเครือข่ายองค์กรชุมชน

ปี 2529  หลังจากลงทำงานแก้ปัญหาชุมชนในหลายชุมชน  ได้สนับสนุนชุมชนต่าง ๆ  รวมตัวก่อตั้งเป็น ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน” ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานของชาวบ้าน  เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการถูกไล่รื้อ  มีสมาชิกทั้งหมด 32 ชุมชน  สามารถแก้ปัญหาที่อยุ่อาศัยได้ 3,660 ครอบครัว

ปี 2531  ขยายงานไปจังหวัดสงขลา และเชียงใหม่

ปี 2532  จัดตั้งกลุ่มแม่บ้าน ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน  ทำกิจกรรมออมทรัพย์ และกู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสมาชิกในชุมชน

ปี 2533  ขยายงานไปโคราช  ทำงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และงานพัฒนาคุณภาพชีวิต 

ปี 2538  จัดตั้งกลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน  เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับคนใต้สะพาน  ปัจจุบันสามารถมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  โดยย้ายจากใต้สะพานมาอยู่ในที่ดินแปลงใหม่ จำนวน 3 แปลง500 ครอบครัว

ปี 2540  ขยายงานไปจังหวัดอุบลราชธานี  ก่อตั้งเครือข่ายชุมชนแออัดจังหวัดอุบลฯ

ปี 2544  ก่อตั้ง กลุ่มคนไร้บ้าน  เพื่อเป็นกลุ่มประสานงานของคนไร้บ้าน  ปัจจุบันกำลังจัดสร้างศูนย์พักคนไร้บ้าน  ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย 

ปี 2551  ขยายการทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้านไปที่จังหวัดเชียงใหม่

                   องค์กรชุมชนทั้งหมดที่มูลนิธิฯ ทำงาน ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็น เครือข่ายสลัม 4 ภาค  เพื่อเป็นองค์กรชุมชนสลัมในระดับประเทศ

 2. งานวิชาการ  งานข้อมูล  รณรงค์

งานวิจัย      ศึกษาอาชีพรับซื้อของเก่า,  การเลือกถิ่นฐานของคนจนเมือง,  ผู้อยู่อาศัยใต้สะพาน

ผลิตหนังสือ    ลมหายใจแห่งมหานคร,   คนสลัม กับการต่อสู้เพื่อบ้าน,  บ้านคือชีวิต,  อาชีพขายของข้างถนน,  ประสบการณ์การทำงานสลัม ก่อนจะถึงที่หมาย,  คนใต้สะพาน,  คนไร้บ้าน  และฉันคือคน.. คนไร้บ้าน

ผลิตสื่อ  ทำสารคดีโทรทัศน์ คนจนเมือง   สื่อวีดีโอ ประสบการณ์การทำงาน.